เทคนิคการใช้กาวสำหรับงานหนังแต่ละประเภท
ในทุกๆขั้นตอนของงานหนังทำมือ วัสดุที่สำคัญและขาดไปไม่ได้เลย คือ “กาว”
ก่อนที่เราจะตอกรูเย็บ เราต้องทำการประกบชิ้นงานก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ชิ้นงานแนบสนิท และผสานเข้าด้วยกัน ก่อนจะถูกเย็บด้วยเข็มและด้ายเพิ่มความคงทนแข็งแรง และความสวยงามอีกครั้้งนึง
กาวที่นิยมใช้สำหรับงานหนัง
กาวที่นิยมใช้สำหรับงานหนังมีอยู่ 2 แบบ แตกต่างกันในเรื่องของกลิ่น และลักษณะการใช้งาน ดังนี้
1. กาวขาว
เป็นกาวสีขาวคล้ายกาวลาเท็กซ์ ถ้าถามว่าใช้กาวลาเท็กซ์แทนได้ไหม ผมขอตอบว่า “ได้นะ” แต่ไม่ดีเท่ากับการใช้กาวขาวที่ผลิตมาเพื่องานหนังโดยเฉพาะ เพราะกาวที่ผลิตมาสำหรับงานหนังโดยเฉพาะ ผมมีความรู้สึกว่ามันยึดติดแน่นได้ดีกว่า และแห้งเร็วกว่ากาวลาเท็กซ์ เหมือนมีส่วนผสมอะไรบางอย่างที่กาวลาเท็กซ์ไม่มี
กาวขาวเหมาะกับการใช้งานแบบไหน?
ด้วยความที่กาวขาวมีความเหนียวพอสมควรและแห้งเร็ว ดังนั้นจึงเหมาะกับชิ้นงานเล็กๆ พื้นที่ทาน้อยๆ เช่น ชิ้นงานทำพวงกุญแจ หรือกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก เพราะถ้าเป็นชิ้นงานใหญ่ๆ กว่าเราจะทากาวให้ทั่วพื้นที่ กาวก็แห้งแล้ว ทาไม่ทันครับ
นอกเหนือไปจากนี้ กาวขาวยังมีคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่ง คือ เมื่อเราประกอบชิ้นงานเข้าหากันแล้ว เราจะขยับเขยื้อนตำแหน่งของมันได้ยาก เพราะฉะนั้นจึงเหมาะกับลักษณะงานที่ติดลงไปแล้วเราจะไม่ขยับเพื่อจัดตำแหน่งมัน เพราะมันจะทำให้หนังบริเวณนั้นเสียหายได้
ข้อดีของกาวขาว
- กลิ่นไม่ฉุน ดีต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ
- ติดแน่น ทาง่าย
- เก็บรักษาได้ง่ายกว่ากาวยาง
ข้อเสียของกาวขาว
- แห้งเร็ว จึงเหมาะกับชิ้นงานเล็กๆ และชิ้นงานที่ไม่ต้องการปรับจัดตำแหน่งในภายหลัง
- อาจทิ้งคราบขาวไว้ ถ้าไม่รีบเช็ดส่วนเกินออกหลังประกบชิ้นงานแล้ว หรือในกรณีที่กาวเปื้อนหนังในส่วนอื่นๆ ก็อาจทิ้งรอยไว้จนลบไม่ออก (ต้องใช้ความระมัดระวังในระหว่างการทากาวขาว)
- ราคาแพงกว่ากาวยาง และหาซื้อได้ยากกว่า
2.กาวยาง
กาวยางเป็นกาวที่หาซื้อได้ง่าย ทำจากยางพาราและมีกลิ่นฉุน เป็นกาวที่ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพราะนอกจากจะใช้กับงานหนังได้แล้ว ยังใช้กับงานอื่นๆได้อีกมากมาย เช่น งานไม้, งานพลาสติก, งานหนังเทียม (เช่นหนังพียู, พีวีซี) เป็นต้น
กาวยางเหมาะกับการใช้งานแบบไหน?
เนื่องจากกาวยาง จะเสมือนมีความยืดหยุ่นในตัวของมันเองและมีคุณสมบัติแห้งช้า จึงเหมาะกับชิ้นงานขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ๆต้องทาเยอะ เพราะเราสามารถทากาวยางทิ้งไว้จนทั่วชิ้นงานได้โดยที่กาวยังไม่แห้งดีนัก
หลังทากาวทั่วชิ้นงานแล้ว เราก็ยังสามารถขยับหรือจัดตำแหน่งของชิ้นงานได้อีกเล็กน้อย เนื่องจากคุณสมบัติคล้ายยางพารา ที่มีความยืดหยุ่นในตัว จึงอำนวยความสะดวกให้เรามีเวลาในการสำรวจตำแหน่งชิ้นงานให้ตรงและแนบสนิทกันมากกว่ากาวขาว
ข้อดีของกาวยาง
- แห้งช้า เหมาะกับชิ้นงานใหญ่ๆเพราะทาได้ทั่วพื้นที่ และยังสามารถจัดตำแหน่งชิ้นงานเพื่อให้ตรงกันตามที่ต้องการได้อีกหลังทากาวเสร็จแล้ว
- คราบกาวใช้ก้อนยางพาราขัดออกได้ กรณีที่เปื้อนส่วนอื่นๆ ก็สามารถใช้ก้อนยางพาราลบขัดออกได้เช่นกัน
- ราคาถูก หาซื้อได้ทั่วไป
ข้อเสียของกาวยาง
- มีกลิ่นเหม็น และส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจ อันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว จึงควรใช้ในที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเท
- เก็บรักษายากกว่ากาวขาว จำเป็นที่จะต้องเก็บในภาชนะบรรจุที่เป็นเหล็ก ไม่สามารถเทแบ่งออกมาใช้ในขวดเล็กๆเหมือนกาวขาวได้
อุปกรณ์ในการทากาว
ทั้งกาวขาวและกาวยาง สำหรับงานหนังจะใช้อุปกรณ์ คือ ไม้ปาดกาว ที่ทำจากพลาสติก โดยมีหลายขนาดให้เลือกซื้อ ทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งแนะนำว่าควรมีอย่างน้อย 2 ไซส์ เพราะว่ามันเหมาะกับพื้นที่ทำงานที่ต่างกัน
เล็ก – ใช้ทาพื้นที่เล็กๆ เพื่อระวังไม่ให้กาวล้นออกมา
ใหญ่ – ใช้ทาพื้นที่ใหญ่ๆ เพื่อให้กาวไม่แห้งก่อนทาเสร็จ และประหยัดเวลาการทา
วิธีการดูแลรักษาไม้ทากาว เนื่องจากมันทำจากพลาสติก ดังนั้นเมื่อกาวขาวและกาวยางแห้ง เราสามารถลอกมันออกได้ตลอดเวลา
ดังนั้น ก่อนเริ่มผลิตชิ้นงานทุกครั้ง อยากให้ลอกกาวออกจากไม้ก่อน เพื่อไม่ให้ชิ้นงานสกปรกและเป็นการขจัดเอาคราบกาวเก่าๆ ไม่ให้ปนเปื้อนลงไปกับชิ้นงานของเราครับ
มีความสุขกับการทำหนังนะครับทุกท่าน 🙂