วิธีทำกล่องแพ็คเกจเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า (ฉบับประหยัดต้นทุน)

การเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับสินค้าวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยม คือ การทำกล่องแพคเกจ (Packaging) หรือกล่องบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าของเรา

กล่องแพ็คเกจเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า (ฉบับประหยัดต้นทุน)

Packaging สำหรับแบรนด์ที่ทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยการใช้เครื่องจักรก็สามารถจ้างทำกล่องพวกนี้ได้ง่ายๆ ด้วยการจ้างโรงงานผลิต

แต่สำหรับรายย่อย หรือช่างหนังที่ทำเป็นงานอดิเรก ซึ่งขายได้ปริมาณไม่เยอะมาก อาจจะมีปัญหาในการที่จะต้องจ้างผลิตกล่องเหล่านี้กับโรงงานโดยตรง เนื่องจากมีขั้นต่ำในการที่จะต้องสั่งทำ เช่น 1000 ชิ้นขึ้นไป ไหนจะค่าแบบ ที่ต้องเสียเพิ่มอีก ถือเป็นต้นทุนค่อนข้างสูงที่จะต้องแบกรับ ถ้าเลือกให้โรงงานผลิต

ยิ่งร้านไหนมีความหลากหลายของสินค้าเยอะ มีรูปทรงแตกต่างกันมาก ต้นทุนตรงนี้ก็จะสูงขึ้นไปอีก เพราะเราต้องสั่งผลิตกล่องให้มาใส่สินค้าพวกนี้หลายๆแบบ ตามรูปทรงของสินค้าเราทั้งหมด

วันนี้ผมเลยอยากจะแชร์ไอเดียในการทำกล่องแพ็คเกจเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า แบบฉบับประหยัดต้นทุนให้ครับ เผื่อใครจะเอาไอเดียนี้ไปปรับใช้กับสินค้าที่ร้านได้เลย

เริ่มเลยนะครับ

ขั้นแรก คือ หาซื้อกล่องสำเร็จรูปที่ใหญ่กว่าสินค้าของเรา และกระดาษคราฟท์สำหรับทำตัวหนุนสินค้า

กล่องกระดาษคราฟท์สำเร็จรูป

ผมเลือกใช้กล่องกระดาษคราฟท์แบบฝาครอบครับ เพราะมันดูธรรมชาติและเหมาะกับงานหนังทำมือดีในความรู้สึกส่วนตัว

กระดาษคราฟท์มีให้เลือกหลายเบอร์ด้วยกัน ซึ่งแต่ละเบอร์ก็จะมีสีและความแข็งแรงแตกต่างกันออกไป

ความหนาของกระดาษ จะมีหน่วยว่า “แกรม” ยิ่งมีแกรมเยอะ ยิ่งทำให้กระดาษมีความหนา และสามารถคงรูปได้มาก ทำให้กล่องมีความแข็งแรงและสามารถใส่สินค้าที่มีน้ำหนักมากๆได้

ถามร้านที่ไปซื้อก็ได้ครับ ว่ามีเบอร์ไหนแนะนำบ้าง แต่อยากให้เลือกกล่องที่สามารถ “กันน้ำได้” เพราะกล่องแบบนี้จะใช้กระดาษที่ค่อนข้างหนา และเหนียวเป็นพิเศษ ทำให้สามารถรับน้ำหนักสินค้าเราได้มากพอ

ส่วนใหญ่กล่องพวกนี้จะขายเป็นแพค แพคนึงตกประมาณ 700-800 บาท มีประมาณ 50 ใบ ก็ตกใบละ 14-15 บาทเท่านั้นเอง

ส่วนขนาดก็ให้เลือกจากรูปทรงสินค้าเฉลี่ยของร้านครับ ว่าสินค้าใหญ่สุดมันประมาณไหน ก็เลือกเอาขนาดนั้นเป็นหลักเพื่อที่จะใช้ได้กับสินค้าทุกแบบในร้าน (เหลือดีกว่าขาด/ใหญ่ดีกว่าเล็ก)

อีกอย่างที่ต้องหาซื้อ คือ กระดาษคราฟท์ที่จะเอามาทำตัวหนุนสินค้าด้านใน ซื้อขนาดประมาณ A3 หนา 300 แกรมขึ้นไป (ต่ำกว่านี้จะรับสินค้าไม่อยู่ และดันสินค้าไม่ได้) เอาสีใกล้เคียงกล่องสำเร็จรูปที่ซื้อมา

เริ่มพับกล่องให้พร้อมใช้งาน

พับตามรอยตามมุมให้เรียบร้อย แล้วประกอบกันเป็นกล่อง เพื่อทำสเตปต่อไป

ออกแบบตัวหนุนสินค้าด้านในตัวกล่อง

เริ่มจากวัดขนาดตัวกล่อง (ชิ้นที่จะบรรจุสินค้า) ว่ามีขนาดความกว้าง ความยาวและความสูงได้เท่าไหร่

ในที่นี้ ผมวัดได้ 11.5 cm x 14 cm

จากนั้นวัดความหนาของกระดาษคราฟท์ที่จะเอามาทำเป็นตัวหนุน ของผมกระดาษหนา 1 มิล เอามาคูณสองเข้าไป จะได้ 0.2 cm ให้เอาไปลบกับความกว้างและความยาวของกล่องที่วัดได้

ดังนั้น จะได้ความกว้างและความยาวของกล่องหลังลบความหนาของกระดาษเป็น 11.3 cm x 13.8 cm >> วาดสี่เหลี่ยมกว้างยาวตามขนาดนี้ขึ้นมา 1 ชิ้น > ขอเรียกว่า ‘ชิ้น A’

ชิ้น A – ขนาด 11.3 CM x 13.8 CM

จากนั้นเราจะมาดูที่ความสูงของกล่องสินค้าต่อ

วัดความสูงของกล่อง

ให้เราวัดความสูงของตัวกล่องว่ามีขนาดเท่าไหร่ ซึ่งในที่นี้วัดได้ 3.7 cm

ห้เรากะความสูงตัวหนุนด้านในที่จะทำ ว่าควรเป็นที่เท่าไหร่ (ต้องน้อยกว่าความสูงตัวกล่อง) ในที่นี้ผมออกแบบให้ตัวหนุนสินค้ามีขนาดความสูง 2.7 cm

เราก็เอาความสูงที่ได้มาต่อปีกจาก ‘ชิ้น A’ ขึ้นไปสี่มุม >> ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่ดันให้กล่องสูงขึ้นมาเพื่อหนุนสินค้า

วาดปีกทั้งสี่ ต่อจากชิ้น A – ขนาดกระดาษทั้งหมดจะเท่ากับ 16.7 CM x 19.2 CM

ถึงตรงนี้เราจะได้ขนาดกระดาษโดยรวมที่ต้องใช้ทำสำหรับหนุนสินค้าแล้ว คือ

กว้าง 11.3 + (2.7*2) , ยาว 13.8 + (2.7*2) = กว้าง 16.7 CM ยาว 19.2 CM

เริ่มตัดกระดาษทำตัวหนุนสินค้า

ตัดกระดาษขนาด 16.7 cm x 19.2 cm ขึ้นมา 1 ชิ้น จากนั้นเริ่มวัดจากขอบนอกเข้ามา 2.7 cm (ตามแบบที่เราวาดออกแบบไว้) แล้วตัดมุมสี่มุมทิ้ง

พับตามเส้นดินสอ โดยใช้คัตเตอร์กรีดเบาๆนำร่องให้กระดาษเป็นรอย (เบาๆนะครับ) หลังกรีดแล้วใช้ไม้บรรทัดวางตามรอยกรีดแล้วค่อยพับ วิธีนี้จะทำให้สันพับคมและไม่ย่น สวยงามมากขึ้น

มาถึงตรงนี้เราจะได้ตัวหนุนสินค้าแบบคร่าวๆแล้ว แต่ยังไม่จบครับ เราจะมาทำหลุม (เจาะช่อง) เพื่อใส่สินค้าต่อเลย

วิธีทำช่องวางสินค้า

นำสินค้ามาวางตรงกลางตัวหนุน แล้วใช้ดินสอมาร์คไว้ ไม่ควรมาร์คจนชิดสินค้ามากนัก ให้มาร์คออกจากตัวสินค้าแต่ละด้านประมาณ 0.3-0.5 cm

นำสินค้าวางตรงกลาง แล้วมาร์คด้วยดินสอให้ใหญ่กว่าตัวสินค้าเล็กน้อย

ใช้ไม้บรรทัดทาบให้ตรงทั้งสี่ด้านตามจุดที่มาร์คไว้แล้วขีดเส้นเข้าหากัน

ใช้ดินสอขีดเส้นทะแยงมุม ส่วนพื้นที่ตรงนี้เราจะกรีดเพื่อเอาไว้เป็นที่รองรับสินค้า

จากนั้นใช้คัตเตอร์ตัดตามรอยเส้นทะแยงมุม โดยห้ามลำไปในพื้นที่ขอบเด็ดขาด (ระวังคัตเตอร์ดีๆครับ)

วาดเส้นทะแยงมุมทั้งสี่ด้าน แล้วใช้กรรไกรตัด ระวังอย่าให้ล้ำเข้าไปนอกเส้น

จากนั้นใช้คัตเตอร์กรีดเส้นขอบเบาๆ เราจะทำการพับหลุมที่รอยเส้นสี่มุมนี้เพื่อทำเป็นหลุมลงไป หลังกรีดแล้วก็ให้ใช้ไม้บรรทัดวางทาบเหมือนเดิม แล้วพับเพื่อให้สันพับมันคม

วัดจากเส้นขอบหลุมลงมาด้านละ 2.5. cm แล้วตีเส้นเข้าหากัน จากนั้นใช้คัตเตอร์กรีดเบาๆตามรอยเส้น แล้วใช้ไม้บรรทัดวางทาบตามเส้น จากนั้นพับกระดาษตามรอยเส้นนี้> ส่วนนี้เราจะทำเป็นจุดรองรับสินค้า

มาถึงตรงนี้เราจะได้ตัวหนุนสินค้าเสร็จเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว

จากนั้นให้เราทากาวลาเท็กซ์ที่กล่องวางสินค้า (ให้ทาตรงด้านล่าง อย่าเกินมาด้านบน จากนั้นนำตัวหนุนสินค้าค่อยๆประกอบวางเข้าไป

ประกอบตัวหนุนเข้ากับตัวกล่อง เสร็จเรียบร้อยแล้ว

เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ ฝากล่องไปสั่งทำตรายางเป็นโลโก้ร้านปั๊มสร้างแบรนด์ได้เลยครับ

ดูวิธีทำกล่องแพ็คเกจในรูปแบบวิดีโอ กดด้านล่างเลยครับ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ ^_^

Author: TMLeatherFriend