ลูกค้าสั่งเยอะ แต่ห้ามตีเป็นแบรนด์เรา เอาไงดี?

ถ้าพูดถึงรูปแบบการขายของช่างหนังที่ผลิตสินค้าขึ้นมาขาย แต่ละคนก็มีรูปแบบการขายที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการขายตามตลาด ตามสถานที่ท่องเที่ยวหรือแม้กระทั่งการขายบนโซเชียลมีเดีย (Social Media)หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ


ซึ่งเราจะแบ่งรูปแบบออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่


1. การสร้างแบรนด์เป็นของเราเอง

คือ การสร้างตัวตนให้เราเป็นที่รู้จักและเป็นที่จดจำสำหรับลูกค้า ซึ่งการสร้างแบรนด์มีความสำคัญและละเอียดอ่อนมากๆ 

เริ่มต้นง่ายๆ จากการที่เราลองตั้งโจทย์ขึ้นมาว่า “เราอยากให้ลูกค้าจดจำแบรนด์เราในแบบไหน” 

แล้วก็นำสิ่งนั้นมาสร้างตัวตนให้สามารถจับต้องได้ จับต้องที่ว่านี้ เช่น ใช้สีบางสี ที่เค้าเห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บเลยว่านี่คือแบรนด์เรา บางคนก็ใช้วิธีสร้างมาสคอต (Mascot) ที่เห็นปุ๊บก็รู้ปั๊บเช่นกัน ว่านี่คือแบรนด์ของเรา

การสร้างแบรนด์ต้องอาศัยระยะเวลา การลงทุนเพื่อให้คนซื้อสินค้าของเรา ซึ่งก็ถือว่าเป็นงานที่เหนื่อยในระยะเริ่มต้นมากๆ และจะต้องมีการทำการตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะแข่งขันด้านการตลาด หรือแบ่ง Market Share ให้เราอยู่เหนือคู่แข่งอยู่เสมอ และทำให้คนที่เป็นลูกค้าของเราอยู่แล้วกลับมาซื้อแบรนด์เราซ้ำอยู่เรื่อยๆ

2. OEM (Original Equipment Manufacturer)

คือ การรับผลิตสินค้าตามแบบที่ลูกค้าสั่ง เพื่อให้ลูกค้าเหล่านี้นำไปตีแบรนด์เป็นของตัวเอง กลุ่มนี้ลูกค้าจะมีแบบในใจแล้ว เราก็ทำหน้าที่รับมาผลิตตามแบบที่ลูกค้าต้องการได้เลย


3. ODM (Original Design Manufacturer)

เราจะเริ่มรับทำตั้งแต่การออกแบบสินค้า จัดทำ และส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้า เพื่อให้ลูกค้านำไปตีแบรนด์เป็นของตัวเอง จะคล้ายกับ OEM แต่มันต่างกันตรงที่เรารับออกแบบให้ลูกค้าด้วย

เมื่อเรารู้จักรูปแบบการขายทั้ง 3 รูปแบบแล้ว ทีนี้กลับมาที่คำถามว่า ..

“ถ้าลูกค้าสั่งเยอะ แต่ห้ามตีเป็นแบรนด์ของเรา เอาไงดี?”

ลักษณะของลูกค้าที่มีการสั่งซื้อแบบนี้ คือ เค้าอาจจะนำสินค้าของเรานำไปทำแบรนด์เป็นของเค้าเอง

จุดนี้อยากให้ลองถามตัวเองกลับก่อนว่า “เราขายเค้าในราคาเท่าไหร่?”

ถ้าเราขายราคาเท่าเราขายปลีก ตรงนี้ไม่ต้องคิดเยอะเลย เพราะกลายเป็นว่าลูกค้ารายนี้รับความเสี่ยงแทนเรา ความเสี่ยงที่ว่านี้ คือ การนำสินค้าไปหาตลาดให้ และหาช่องทางในการขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งเราไม่ต้องหาตลาด หรือต้องหาลูกค้าเอง

แต่ทีนี้ เราจะใช้ข้อดีตรงนี้ต่อยอดให้มันดียิ่งขึ้นได้ยังไง?

ข้อหนึ่งที่เราสามารถทำได้ คือ การยื่นข้อเสนอให้กับลูกค้าว่า ถ้ามีการสั่งซื้อจำนวนเยอะมากๆ และมีความสม่ำเสมอในคำสั่งซื้อ เช่น 1 เดือนสั่ง 1 ครั้ง ขั้นต่ำสั่ง 1,000 ชิ้นในแต่ละครั้ง เราจะขายให้ในเรทราคาที่ต่ำลง ซึ่งทางลูกค้าก็น่าจะแฮปปี้ เพราะได้ต้นทุนที่ถูกลง ส่วนฝั่งเราเองมีข้อดี คือ จะทำให้รู้ว่าใน 1 เดือนเราจะมีออเดอร์นี้ขั้นต่ำ 1,000 ชิ้น ทำให้เราสามารถสตอคอะไหล่และหนังล่วงหน้าให้เพียงพอกับความต้องการในการผลิตสินค้าได้ และทำให้ยอดขายมีความสม่ำเสมอมากขึ้น 

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ข้อดีของการขายแบบ OEM และ ODM

ในส่วนของการทำแบรนด์ก็มีความท้าทายอย่างหนึ่ง ในวันที่แบรนด์ของเราประสบความสำเร็จ ติดตลาดแล้ว แบรนด์ของเราเป็นที่ยอมรับและชื่นชมสำหรับลูกค้า ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจให้กับเจ้าของแบรนด์อย่างเรามาก สำหรับคนที่คิดแบบนี้ ก็อาจจะไม่ตัดสินใจที่จะขายแบบ OEM และ ODM เพราะมองว่าอยากสำเร็จในแบรนด์ของตัวเองมากกว่าที่จะไปขายให้คนอื่นสร้างแบรนด์ของเค้าเอง

แต่ในทางกลับกัน ก็อาจจะมีคนอีกกลุ่มนึงคิดว่า แล้วทำไมเราจะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งล่ะ ?

เราก็ทำมันไปเลยทั้งคู่ สร้างแบรนด์ก็ส่วนสร้างแบรนด์ ส่วน OEM และ ODM ก็ทำได้ ทำแบบคู่ขนานกันไป แยกออกมาเลยว่าแบรนด์นี้สำหรับการขายในแบรนด์ของเราเอง ส่วน ODM หรือ OEM ก็อยู่ภายใต้อีกแบรนด์นึงไปเลย

สุดท้ายแล้ว การที่เราจะตัดสินใจว่าควรจะขายในรูปแบบไหนดี อยู่ที่ความสุขของเราทั้งสิ้น ว่าเราสุขกับอะไร สุขกับรายได้? สุขกับการประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ ที่อาจจะไม่ได้วัดจากรายรับที่น้อยกว่า? หรือสุขกับมันทั้งคู่?

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับช่างหนังทุกคน เพื่อนำไปปรับใช้รูปแบบการขายดูนะครับ 🙂

สามารถดูในรูปแบบวิดีโอโดยกดที่รูปด้านล่าง + ฝากติดตาม Youtube Channel “TM เพื่อนรักช่างหนัง” ด้วยนะคร๊าบบบ

Author: TMLeatherFriend