เทคนิค Pyrography สร้างสรรค์งานหนังดีๆ ด้วยการจี้ร้อน

Pyrography (ไพ-โร-กรา-ฟี่) เป็นเทคนิคในการวาดภาพหรือสร้างงานศิลปะด้วยไฟ,การเผาไหม้หรือการจี้ร้อนที่มีมาตั้งแต่ยุคโบราณ

โบราณแค่ไหนน่ะเหรอ? เรียกได้ว่าตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เลยทีเดียว เพราะ’ศิลปะ’เอง ก็ถูกรังสรรค์มาตั้งแต่สมัยนั้น ที่ใดมีศิลปะ ที่นั่นจึงมีกระบวนการในการสร้างศิลปะเกิดขึ้นตามไปด้วย และหนึ่งในกระบวนการสร้างงานที่ถูกจารึกไว้ก็คือ ‘Pyrography”

การใช้ไฟเพื่อสร้างลวดลาย ไม่ได้ถูกจำกัดว่าต้องใช้กับวัตถุชนิดได้ ทั้งไม้,หนัง,เหล็ก,หิน ฯลฯ ต่างเคยถูกสร้างลวดลายศิลปะด้วยไฟหรือความร้อนมาทั้งสิ้น แต่สิ่งที่แตกต่างในแต่ละยุค คือ วิวัฒนาการของเครื่องมือที่ทำให้เกิดไฟหรือความร้อนนี้ ถูกพัฒนาให้ใช้งานง่ายขึ้นตลอดเวลา จวบจนปัจจุบัน ที่มีปากกาความร้อน เช่น หัวบัดกรี, หัวแร้ง ฯลฯ ออกมาให้นักศิลปะและช่างฝีมือที่ต้องการใช้เทคนิค Pyrography หาซื้อและใช้งานได้ง่ายขึ้นทุกที

อุปกรณ์ที่ใช้ในการวาดรูปโดยเทคนิค Pyrography

อุปกรณ์ในการวาด (Pyrography Tool) Credit: leathercrafttools.com

หาซื้อใน Shopee หรือ Lazada ได้นะครับ พิมพ์ตรงๆไปเลยว่า Pyrography เดี๋ยวนี้มีให้เลือกเยอะมาก ที่ต้องระวัง คือ ส่วนใหญ่ถ้าเป็น Pyrography จริงๆ เมืองไทยยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ดังนั้น ให้ตรวจสอบกำลังไฟให้ชัวร์ก่อนซื้อ ว่าใช้กับไฟบ้านเราได้หรือเปล่า

ผมเคยพลาดมาทีนึงแล้ว ในยุคนั้น (ซื้อมานานมากแล้ว 55) ผมต้องสั่งนำเข้าจากญี่ปุ่นครับ แล้วดันลืมไปว่าไฟญี่ปุ่นไม่เท่าไฟไทย ต้องมาตามหาซื้อหม้อแปลงไฟมาแปลงอีก งบบานเลยครับ (ตอนนั้น แค่ราคา pyrogrpahy ก็ 2000 บาทแล้ว) แต่ตอนนี้สบายหายห่วง เพราะเราหาซื้อได้ตาม shopee ในราคาถูกมาก แถมมีหัวหลายแบบให้เราเลือกใช้ด้วยครบชุดเลย

วิธีการใช้เทคนิค Pyrography

จริงๆมันเหมือนการวาดรูปธรรมดา วาดไปตามแต่จินตนาการ หรือใครจะใช้ดินสอร่างแบบไว้ก่อนเพราะวาดสดมือไม่นิ่ง ก็ไม่ผิดกติกา แต่ที่ผมวาด ผมวาดสดเลยครับ เพราะขนาดมีดินสอมือผมก็ไม่นิ่ง ฮ่าๆๆๆ เพราะมันร้อนอ่ะครับ ลุ้นทุกครั้งที่ใช้เทคนิคนี้

ความยากของมันคือ เราต้องระวังความร้อนจะโดนมือเรา และมันจะไม่เหมือนการวาดด้วยปากกาที่หมึกปากกามันจะมีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง

เพราะถ้าเป็น Pyrography รูปที่เกิดขึ้นมันมาจากความร้อนที่หัวปากกา สมมติเราวาดไปสักพัก ความร้อนมันจะส่งผ่านมาไม่ต่อเนื่อง ทำให้เส้นที่ควรจะสม่ำเสมอมันขาดตอน แถมถ้าเราคิดว่าจะมาเติมใหม่ในช่วงที่มันวาดไม่ติด ยากครับ เพราะมันกะยาก พอมาวาดซ้ำรอยเดิมอีกทีก็กลายเป็นคนละเส้นไปเลย เละเลยครับ ดังนั้น ต้องฝึกและทำความเข้าใจกับความร้อนของมันพอสมควรถึงจะคุยกันรู้เรื่อง บางรูปผมใช้วิธีจุดเอาทีละนิดแทนถ้ามันละเอียดมากๆ เพราะความยากในการควบคุมความร้อนของมันนี่ล่ะครับ

ข้อควรระวัง:

  1. เนื่องจากมันใช้ความร้อนสูงมากๆ ที่ต้องระวังที่สุดคือมือของเรานี่แหละครับ พยายามใช้ถุงมือกันไฟใส่เข้าไประหว่างวาด (ซึ่งมันก็จะทำให้เราวาดไม่ถนัด) ส่วนใหญ่ก็เลยไม่ค่อยจะใช้ถุงมือกันเท่าไหร่ ผมเองตอนวาดก็ไม่ได้ใส่นะ ตอนวาดแรกๆก็ได้แผลมาเลยครับ อยากบอกว่าความร้อนของเจ้าเครื่องนี้มันร้อนจนเหมือนมันซึมลึกเข้ากระดูกเลยแหละ ยิ่งแช่เอาไว้นานยิ่งร้อน เพราะฉะนั้น ระวังให้ดี อย่าโดนบริเวณเหล็กเด็ดขาด และจำเป็นที่จะต้องมีขาตั้งพัก
  2. ผมแนะนำให้ใช้กับหนังฟอกฝาดสีธรรมชาติเท่านั้น (แบบไม่ย้อมสี) เพราะเวลาความร้อนมันไปโดนหนัง มันจะทำให้เกิดควัน และถ้าในกรณีที่หนังมันผ่านเคมีมา ควันนั้นจะเข้าร่างกายเราตลอดเวลาเป็นอันตรายในระยะยาว อย่าเสี่ยงครับ ขนาดผมวาดกับหนังฟอกฝาดแบบไม่ฟอกสีอะไรเลยยังเหม็นมากเลย แก้ไขด้วยการใส่หน้ากากพอได้ครับ

ตัวอย่างผลงานที่ผมเคยทำครับ

ขอให้มีความสุขกับการทำหนังนะครับ 😀

Author: TMLeatherFriend