เทคนิค Leather Marquetry ปะติดปะต่อหนัง สร้างความน่าสนใจและเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

วันนี้เอาเทคนิคอีกแบบมาฝากครับ

รูปที่เห็นไม่ใช่เค้าตัดหนังมาทั้งแผ่นแล้วระบายสีลงไป แต่เค้าใช้การสร้างงานที่เรียกว่า “Leather Marquetry” (อ่านว่า มา-คิว-ทรี่) หรือเรียกง่ายๆ ว่า “การตัดต่อ”

จริงๆ เทคนิคนี้มันไม่ได้จำกัดว่าต้องใช้กับหนัง เพราะมันใช้กับวัสดุอะไรก็ได้ โดยเทคนิคของมัน ก็คือการเอาส่วนประดับชิ้นเล็กๆ มารวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างความสวยงามให้กับชิ้นงาน ซึ่งพอมาใช้กับงานหนังแล้วงานก็จะน่าสนใจ สวยงามอย่างในรูปที่เห็น

แต่มันก็ค่อยข้างที่จะต้องใช้เวลาและต้องแมทช์สีเก่งๆหน่อยถึงจะสวย แต่งานที่ได้ออกมาไม่ทำให้เราเสียเวลาไปอย่างไร้ค่าแน่นอน เพราะมันสร้างงานที่มีความละเอียด และเผยให้เห็นมูลค่าที่ซ่อนอยู่ภายใน เป็นการต่อยอดชิ้นงานให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้อีกเยอะเลยทีเดียว

แนะนำให้ลองร่างสีในคอมพิวเตอร์ หรือลองระบายสีในกระดาษก่อนที่จะตัดหนัง จะได้ดูภาพรวมว่าออกมาแล้วสีมันสวยมั้ย

มันเหมาะสำหรับคนที่มีสต็อคหนังเยอะๆ หลากหลายสี แล้วมีเศษหนังเหลือทิ้งแบบที่ขึ้นชิ้นงานอะไรไม่ได้แล้ว

นั่นล่ะครับ เอามาตัดเป็นชิ้นแล้วปะเป็นรูปเลย งานเนี้ยบ งานปัง สวยงามแน่นอน.อ้อ … ถ้าอยากจะสร้างชิ้นงานแบบในรูป อย่าลืมว่าหนังแต่ละสีต้องหนาเท่ากันนะครับ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่ราบเรียบเสมอกัน ถ้ามีเศษหนังที่มีความหนาไม่เท่ากัน ก็คงจะต้องใช้วิธีปอกหนังให้หนาเท่ากันก่อน แล้วถึงจะใช้เทคนิค Marquetry มาตัดต่อให้มันเป็นผลงานเดียวกันต่อไป

เทคนิค Marquetry ไม่ได้จำกัดว่า เราจะต้องตัดหนังแต่ละสีมาปะๆ แล้วเป็นระนาบเดียวกันนะครับ แต่เราสามารถใช้การตัดต่อแบบนูนสูง-ต่ำ เพื่อสร้างความแตกต่างเข้าไปได้ด้วย หรือจะเพนท์

หลายๆแบรนด์ชั้นนำ (Luxury Brand) ได้นำเทคนิค Marquetry นี้มาใช้ในการผลิตสินค้า และยกย่องว่าเทคนิคนี้คือ “เทคนิคชั้นสูง” ที่สามารถเพิ่มมูลค่าและความแตกต่างให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี อย่างภาพด้านล่าง คือ แบรนด์ Hermès (แอร์เมส)

หรืออีกแบรนด์ที่เป็นแบรนด์เครื่องหนังชั้นสูงจากประเทศสเปน อย่าง “LOEWE” (โลเอเว่) ก็ใช้เทคนิค Leather Marquetry มาเพิ่มความโดดเด่นและดีไซน์เฉพาะตัวให้กับเฟอร์นิเจอร์ ทั้งโคมไฟ ตู้ โต๊ะ ผ้าห่ม เก้าอี้ และเครื่องปั้นดินเผา

จะเห็นได้ว่าเทคนิคนี้ มันก็แค่แนวคิดในการ “ตัดต่อ” หรือ “ปะติดปะต่อ” แต่มันจะถูกจัดวางและถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานได้สวยงามมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งนั้น ว่ามีมุมมองศิลปะและใช้ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในผลงานได้เหมาะสมและมากน้อยเพียงใด

ผมเคยได้รับความคิดเห็นในคลิปที่ผมแชร์บน ช่อง Youtube TMเพื่อนรักช่างหนัง ของผมว่า “ทำงานแบบนี้ วันนึงจะไทำได้สักกี่ชิ้น กว่าจะตอก กว่าจะเย็บไม่ทันกินพอดี”

ไม่ผิดจากที่คอมเม้นท์นี้บอกครับ .. ผมสร้างงานได้จำนวนน้อยมากๆ ถ้าเทียบกับคนอื่น.. แถมผมทำเป็นงานอดิเรกด้วย

แต่ผมวางจุดยืนของแบรนด์ผมไว้ว่า “เน้นคุณค่า ไม่เน้นปริมาณ”

ต่อให้ผมจะต้องใช้เวลาคูณสิบเท่า เพื่อนั่งละเมียดละไมในการตอก การเย็บ หรือการจัดเรียงหนังทีละชิ้นๆ โดยใช้เทคนิค Leather Marquetry เหมือนในบทความนี้ ผมก็จะทำครับ

เพราะผมเน้นขายคุณค่า โดยไม่ได้เน้นปริมาณสินค้าที่ผมจะขายได้

การเน้นขายคุณค่าของผม ไม่ได้ไปดูถูกช่างหนังคนอื่นนะครับ ว่าของคนอื่นไม่มีคุณค่า

แต่คำว่า ‘คุณค่า’ ในมุมของผม มันคือการนำเอาศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ที่มันต้องแลกด้วยเวลา (ในการคิดงานและการทำ)ใส่ลงไปด้วย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะขาดทุน เพราะของที่ต้องเสียเวลาคิดและทำนานๆ ย่อมต้องแลกด้วยมูลค่าที่สูงขึ้น ..

ใช่ครับ ผมขายราคาแพง.. แต่มันคุ้มค่านะที่คุณจะจ่าย – ผมตั้งเป้าหมายไว้แบบนี้

ในเวลาที่เท่ากันผมผลิตได้แค่ 1 ชิ้น ในราคา 1,000 บาท (สมมติ)

ร้านอื่นที่จบงานง่าย ผลิตและขายได้ 5 ชิ้นในเวลาเท่ากันกับผม –> เราอาจได้ผลกำไรสุทธิเท่ากันก็ได้นะครับ เพราะผมตั้งราคาแพง แลกกับคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ

ทุกอย่างอยู่ที่เราเองครับ ว่าวางสินค้าและจุดยืนของแบรนด์ไว้อย่างไร

ผมกำลังจะเขียนบทความในเชิงการตลาด การสร้างแบรนด์และการทำธุรกิจในเร็วๆนี้ .. เพื่อแชร์ในสิ่งที่เกี่ยวพันกับงานประจำของผม

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนรักช่างหนัง ที่กำลังจะทำร้านและแบรนด์เป็นของตัวเองนะครับ โปรดติดตามตอนต่อไป 😀

#มีความสุขกับการทำหนังนะครับ

Author: TMLeatherFriend